
สิ่งที่คู่กันมากับการขายของออนไลน์อย่างแยกกันไม่ได้ คือ การซื้อโฆษณา Facebook ads หรือ ที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘ยิงแอด’ แต่เราเคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ถ้าวันนี้หยุดยิงแอด เรายังจะขายของออกกันอยู่หรือไม่
การมีช่องทางขายสินค้า หรือแหล่งที่มาของยอดขายเพียงช่องทางเดียวเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง และวันนี้หลายคนฝากฝังช่องทางขายและแหล่งรายได้จากการ ‘ยิงแอด’ เกือบทั้งหมด หรือ ทั้งหมดของธุรกิจ และหาก หยุดยิงแอด รายได้ของคุณก็จะ หยุดทันที เช่นกัน
มี 4 ช่องทางขายของออนไลน์ที่จะช่วยให้คุณ ลด-ละ-เลิก ยิงแอดในอนาคต โดยขอหมายเหตุว่า ช่องทางเหล่านี้ให้ผลลัพธ์ช้ากว่าการซื้อโฆษณา Facebook ค่อนข้างมาก
บางช่องทางอาจต้องพัฒนาต่อเนื่อง 6 – 12 เดือนขึ้นไปกว่าจะเริ่มผลิดอกออกผล จึงขอให้ผู้ศึกษาถือว่าการพัฒนาช่องทางเหล่านี้จะเป็นไปเพื่อ สร้างรากฐานระยะยาว ให้ธุรกิจออนไลน์ของคุณ และจงลงมือทำแต่เนิ่น ๆ อันได้แก่ ขายสินค้าใน Marketplace, ทำเว็บไซต์และ SEO, ทำ List building, และ ทำ Affiliate marketing
1. ขายสินค้าใน Marketplace
Marketplace คือ ศูนย์การค้า, ตลาด, หรือ ตลาดนัดต่าง ๆ ที่ผู้ซื้อผู้ขายต่างมาชุมนุมกันเพื่อช้อปปิ้งสินค้าโดยเฉพาะ ซึ่งพอมาเป็นยุคดิจิทัล Marketplace ก็พัฒนามาอยู่ในรูปแบบของ Online marketplace หรือชื่อทางธุรกิจ คือ E-commerce platform ไม่ว่าจะเป็นเจ้าที่เริ่มต้นมาจากออนไลน์ 100% เช่น Amazon.com และ Zappos.com หรือ เดิมทีเป็นออฟไลน์แล้วปรับตัวมาออนไลน์ เช่น Walmart.com — ส่วนในประเทศไทย ได้แก่ Lazada, Shopee, Kaidee, JD Central, ToHome, WeMall, Ezbuy เป็นต้น ฯลฯ
จุดเด่นที่สุดของเว็บไซต์ E-commerce platform เหล่านี้ คือ เว็บทราฟฟิก หรือ จำนวนผู้หมุนเวียนบนเว็บไซต์จำนวนมากในแต่ละวัน อาทิ
- lazada.co.th มีผู้เยี่ยมชมประมาณ 1 – 2 ล้านครั้งต่อวัน
- shopee.co.th ประมาณ 1 – 2 ล้านครั้งต่อวัน
- kaidee.com ประมาณ 3 – 5 แสนครั้งต่อวัน
- jd.co.th ประมาณ 1 – 2 แสนครั้งต่อวัน
และที่สำคัญ ผู้เยี่ยมชมส่วนใหญ่มีแนวโน้มเป็น Shopper/ buyer traffic หรือ คนที่เข้ามาเพื่อช้อปปิ้งสินค้ามากกว่าผู้เยี่ยมชมที่อยู่บนเฟซบุ๊ค ปริมาณผู้เยี่ยมชมมหาศาลเหล่านี้ ประกอบกับระบบ User experience และ Interface (UX/UI) ของเว็บไซต์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าออนไลน์โดยเฉพาะ จึงช่วยให้ร้านค้าที่มีรายการสินค้าจำนวนมีโอกาสขายสินค้าได้โดยไม่ต้องซื้อโฆษณาในระยะยาว ส่วนข้อเสีย คือ เมื่อเป็นศูนย์รวมของร้านค้าจำนวนมาก ลูกค้าจึงมีโอกาสเปรียบเทียบและไปซื้อกับร้านอื่นเช่นกัน
2. ทำเว็บไซต์ และ SEO
ธุรกิจออนไลน์จะไม่สมบูรณ์หากปราศจาก ‘เว็บไซต์’ แม้โอกาสที่เว็บไซต์สำหรับขายสินค้าแบรนด์ของคุณโดด ๆ จะมีผู้เยี่ยมชมเดือนละเป็นสิบล้านครั้งแบบเว็บไซต์ในข้อที่ 1 จะเป็นไปได้ยาก แต่ข้อเท็จจริง คือ คุณไม่ต้องการปริมาณผู้เยี่ยมชมมากขนาดนั้น คุณแค่ต้องการผู้เยี่ยมชมที่ตรงกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ เพียงเดือนละ หลักหมื่นปลาย ๆ หรือ หลักแสนต้น ๆ ก็มีโอกาสขายสินค้าได้ทุกเดือนโดยไม่ต้องซื้อโฆษณา Facebook ad ในระยะยาว
การจะทำเช่นนั้นได้ คือ การทำ เว็บไซต์ และสร้างส่วนต่อขยายที่เป็น Blog สำหรับเขียนบทความให้ข้อมูลความรู้ และข่าวสารต่าง ๆ ของแบรนด์ และทำ SEO ให้คอนเทนต์เพื่อให้ กลุ่มเป้าหมายของคุณหาเจอ นั่นเอง
การทำเว็บไซต์ถือเป็นกลยุทธ์ระยะยาวที่สุด กล่าวคือทำควบคู่กับการทำ Facebook และการเปิดร้านใน E-commerce platform และค่อย ๆ ชักชวนลูกค้าของคุณให้มารู้จักและเยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณ จนกระทั่งในอนาคตพวกเขาอาจตรงมาซื้อที่เว็บไซต์ของคุณโดยตรงในที่สุด
3. ทำ List building
List building คือ การเก็บสะสมข้อมูลและวิธีติดต่อกลุ่มเป้าหมายและลูกค้า โดยคุณสามารถเก็บข้อมูลพวกเขาได้ตั้งแต่ยังไม่สั่งซื้ออะไรจากคุณด้วยซ้ำ อาทิ การแจกคูปองส่วนลด หรืออีบุ๊ค หรือวีดีโอสอนเคล็ดลับการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณ เพื่อแลกกับข้อมูลของพวกเขา (โดยมีซอฟต์แวร์ในการทำเรื่องเหล่านี้แทนคุณทั้งหมด)
List building เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะที่สุดในการทำควบคู่กับการมีเว็บไซต์ เพราะคุณจะได้ข้อมูลลูกค้า ได้แก่ ชื่อ เบอร์โทร อีเมล์ และความชอบต่าง ๆ ของลูกค้า หรือ กลุ่มเป้าหมาย มาเก็บไว้และสามารถนำไปทำ Email marketing, Chatbot marketing, หรือแม้แต่ SMS marketing ต่อได้โดยไม่ต้องเทียวซื้อโฆษณาซ้ำ ๆ อีกต่อไป และนี่เป็นกลยุทธ์ที่ธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศทำแทบทุกราย รวมไปถึง Lazada, Shopee ฯลฯ ก็ทำทั้งสิ้น เพราะทุกครั้งที่มีคน Sign up เพื่อใช้บริการแพลทฟอร์ม พวกเขาได้ดาต้าทุกครั้ง!
4. ทำ Affiliate marketing
Affiliate marketing เป็นคำที่คนไทยบางคนอาจยังไม่คุ้น แต่ถ้าบอกว่า ‘ระบบตัวแทน’ หลายคนอาจจะร้องอ๋อทันที เพียงแต่ในต่างประเทศมีการนำซอฟต์แวร์มาบริหารงานอย่างจริงจัง รวมถึงมีกฏระเบียบที่เข้มงวดเพื่อรักษาประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยอย่างน้อยผู้ที่จะสมัครเป็น Affiliate partner นำสินค้าไปขาย จะต้องมีเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ และต้องผ่านการตรวจสอบเพื่ออนุมัติการเป็น Affiliate ที่มีคุณภาพ (และพร้อมจะถูกปลดและแบนสถานะได้ทันทีที่ทำผิด)
ธุรกิจออนไลน์หลายรายในต่างประเทศ อาทิ Amazon, Walmart, AliExpress ฯลฯ ล้วนมีส่วนเติบโตได้ด้วยพลังของ Affiliate แต่สำหรับในไทยนั้น ‘ช่วงเวลา’ ของการทำระบบ Affiliate ที่รันด้วยซอฟต์แวร์จ๋า ๆ แบบ 100% อาจจะยังมาไม่ถึง เราจึงนำมาเป็นทางเลือกลำดับที่ 4 ในการพัฒนาเมื่อรากฐานธุรกิจของคุณแข็งแกร่งจากตัวเองเสียก่อนแล้วอาจพิจารณาเปิดระบบ นายหน้า และ ตัวแทนขาย ไปขยายกิจการต่อและนี่คือ 4 Tips ขายของออนไลน์ที่จะช่วยให้เสียเงินค่าโฆษณา Facebook น้อยลง
เปิดอ่านแล้ว 11 ครั้ง