เปิด 4 เมืองแซ่บ ตัวแทนภาคอีสาน จัดอันดับร้านอาหาร คู่มือ MICHELIN Guide ประเทศไทย  

กดแชร์ส่งให้เพื่อน

MICHELIN Guide ได้คัดสรรร้านอาหารและที่พักที่ดีที่สุดครอบคลุมกว่า 35 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ที่เปิดตัวฉบับปฐมฤกษ์ในปี 2561 The MICHELIN Bangkok เริ่มต้นจากสำรวจกรุงเทพฯ กับการประกาศให้ Street Food ปรุงจากเตาถ่านชื่อดัง “ร้านเจ๊ไฝ” ได้ 1 ดาวมิชลิน

เส้นทาง 5 ปีแรก (2561-2565) ของ MICHELIN Guide ในไทยได้เพิ่มพื้นที่สำรวจในจังหวัดต่างๆ เข้ามาต่อเนื่อง

– ปี 2561 : The MICHELIN Guide กรุงเทพฯ

– ปี 2562 : The MICHELIN Guide กรุงเทพฯ, ภูเก็ตและพังงา

– ปี 2563 : The MICHELIN Guide กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ภูเก็ต และพังงา

– ปี 2564 : The MICHELIN Guide กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ภูเก็ต และพังงา (ไม่เพิ่มจังหวัด)

– ปี 2565 : The MICHELIN Guide กรุงเทพฯ, พระนครศรีอยุธยา, เชียงใหม่ ภูเก็ต และพังงา

เพื่อเฟ้นหาร้านที่ผ่านตามหลักเกณฑ์ MICHELIN Guide 5 ข้อคือ 1. คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ 2.ความโดดเด่นของรสชาติ และเทคนิคการทำอาหาร 3. เอกลักษณ์เฉพาะตัวของเชฟที่สะท้อนออกมาในอาหารและประสบการณ์ในมื้อนั้น 4.ความคุ้มค่าสมราคา และ 5.ความสม่ำเสมอ

หลังจบ 5 ปีแรก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ต่อสัญญากับ MICHELIN Guide ในการดำเนินโครงการ The Michelin Guide Thailand ประจำปี 2565-2569 พร้อมเปลี่ยนชื่อคู่มือจากชื่อเมือง 5 จังหวัด เป็นชื่อ “ประเทศไทย” (MICHELIN Guide Thailand) เพื่อรองรับการขยายพื้นที่สำรวจร้านอาหารในจังหวัดต่างๆ มากขึ้น

เปิด 4 เมืองภาคอีสาน คู่มือ MICHELIN Guide Thailand

MICHELIN Guide ปีที่ 6 ในประเทศไทย ได้ขยายขอบเขตการคัดสรรร้านอาหารครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “ภาคอีสาน” ของไทย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของไทยครอบคลุม 20 จังหวัด

โดยคัดเลือก 4 เมือง เป็นตัวแทนภาคอีสานที่จะสะท้อนอัตลักษณ์อาหารอีสานที่โดดเด่นและมีรสชาติจัดจ้าน ที่คู่มือ MICHELIN Guide Thailand ปี 2566 จะดำเนินการสำรวจ คัดเลือก และจัดอันดับร้านอาหาร ได้แก่

– นครราชสีมา

– อุบลราชธานี

– อุดรธานี 

– ขอนแก่น 

อาหารอีสานมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรเขมรโบราณ รวมทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีน ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ภาคอีสานยังเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพสูง ทั้งข้าวหอมมะลิที่โด่งดังไปทั่วโลกและข้าวเหนียว อาหารอีสานส่วนใหญ่จะไม่ใช้อาหารทะเลเป็นวัตถุดิบเนื่องจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ไม่ติดกับทะเลหรือมหาสมุทร แต่เนื่องจากภูมิภาคนี้มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน โดยเฉพาะแม่น้ำแม่โขง จึงมีปลาน้ำจืดจำนวนมากให้เลือกใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร

คุณเกว็นดัล ปูลเล็นเนค ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือมิชลิน ไกด์ทั่วโลก กล่าวว่าผู้ตรวจสอบของมิชลินประทับใจในอาหารอีสานที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นและรสชาติจัดจ้าน แม้จะใช้วิธีการประกอบอาหารที่เรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นการต้ม, ย่าง, นึ่ง หรือตุ๋นด้วยไฟอ่อน (Slow Cooking) แต่กลับให้รสชาติที่ลึกซึ้งและซับซ้อน ทั้งยังมีเทคนิคการถนอมอาหารที่ถือเป็นจุดเด่นของอาหารอีสานและแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านในการหมักดองปลาและผักตามฤดูกาลให้สามารถเก็บไว้ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารได้นานขึ้น

เครื่องปรุงรสพื้นฐานในครัวอีสานอย่าง “ปลาร้า” ที่ทำจากการนำปลาในท้องถิ่นมาหมักกับเกลือและข้าว เป็นวัตถุดิบยอดนิยมที่ใช้ใส่ในอาหารและน้ำจิ้มต่างๆ แทบทุกจาน ทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติมาตั้งแต่ปี 2555

ปัจจุบันยังมีเชฟชาวอีสานจำนวนมากที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านอาหารจากร้านอาหารชื่อดังในต่างประเทศ กลับมาเปิดร้านอาหารของตนเองที่บ้านเกิด เชฟเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการยกระดับอาหารอีสานโดยเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาปรุงเมนูอาหารด้วยทักษะที่สั่งสมมานาน และยังช่วยกำหนดมาตรฐานใหม่ให้อาหารท้องถิ่นมีคุณภาพสูงมากขึ้น

คู่มือ MICHELIN Guide ประเทศไทย ปี 2566 จะสนับสนุนให้ภาคอีสานของไทยเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวที่ต้องการลิ้มรสอาหารพื้นบ้าน และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชนและธุรกิจร้านอาหารภายในท้องถิ่น

เปิดอ่านแล้ว 48 ครั้ง