
แบรนด์ร้านไอศกรีม Baskin-Robbins (บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์) อายุ 78 ปี ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากชาย 2 คนที่ทำธุรกิจร้านไอศกรีมด้วยกันทั้งคู่ คือ “Burt Baskin” เปิดร้านไอศกรีม Burton’s Ice Cream ในเกลนเดล รัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1945 กับ “Irv Robbin” เปิดร้านไอศกรีมในแพซาดีน่า แคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องเขยของ Burt Baskin ต่อมาทั้งคู่ได้รวมธุรกิจเข้าด้วยกัน และก่อตั้งแบรนด์ “Baskin-Robbins”
ปัจจุบัน Baskin-Robbins เชนร้านไอศกรีมระดับโลก เจ้าของโลโก้หมายเลข 31 (ที่มาจากการนำเสนอไอศกรีม 31 รสชาติ) มีสาขาอยู่ในกว่า 50 ประเทศ จำนวนกว่า 7,700 สาขาทั่วโลกรวมทั้งในไทย
ในประเทศไทยมีบริษัท โกลเด้น สกู๊ป จำกัด ในเครือ บมจ.มัด แอนด์ ฮาวด์ หรือ MUD เป็นผู้ได้รับสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์จาก Baskin Robbins Franchising LLC ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิเดียวกับแบรนด์ “ดังกิ้นโดนัท”
การทำตลาดแบรนด์ Baskin-Robbins ไอศกรีมทุกชนิดที่จำหน่ายในประเทศไทยนำเข้าสินค้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมาตรฐาน Baskin-Robbins ที่ทำตลาดแบบเดียวกันทั่วโลก
การทำธุรกิจของ Baskin-Robbins ในประเทศไทย นับจากปี 2563 ที่มีสาขากว่า 34 สาขา ได้ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ถึงสิ้นปี 2564 เหลืออยู่ 10 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นร้านรูปแบบคีออสก์ พื้นที่ประมาณ 20-30 ตารางเมตร
ปี 2565 Baskin-Robbins ประเทศไทยเปิดให้บริการเหลือ 4 สาขา คือ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ชั้น 3, เค วิลเลจ ชั้น 1, สยามพารากอน ชั้น 3 และเดอะวอล์ค เกษตร-นวมินทร์ ชั้น 1 โดยต้นปี 2566 ร้าน Baskin-Robbins ได้แจ้งเจ้าของพื้นที่เช่า “ปิดกิจการ” ทั้งหมด ในประเทศไทย
หากดูผลประกอบการ “โกลเด้น สกู๊ป” ผู้ได้รับสิทธิแฟรนไชส์ Baskin-Robbins ในประเทศไทย พบว่า “ขาดทุน” ต่อเนื่อง
– ปี 2560 รายได้ 110 ล้านบาท ขาดทุน 11.8 ล้านบาท
– ปี 2561 รายได้ 112 ล้านบาท ขาดทุน 9.8 ล้านบาท
– ปี 2562 รายได้ 103 ล้านบาท ขาดทุน 10.2 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 63 ล้านบาท ขาดทุน 10.4 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 52 ล้านบาท ขาดทุน 7.4 ล้านบาท
หลังจากปิดกิจการ Baskin-Robbins ในประเทศไทย บมจ.มัด แอนด์ ฮาวด์ ยังมีธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งธุรกิจไลฟ์สไตล์อีกหลายแบรนด์
เปิดอ่านแล้ว 10 ครั้ง